แอกทินิก เคอราโทซิส

แชร์

ผื่นแอกทินิก เคอราโทซิส หรือ Solar Keratoses มีลักษณะ เป็นผื่นบนผิวหนังที่หยาบ แห้ง เป็นสะเก็ด ซึ่งเกิดจากการที่ผิวหนังบริเวณนั้นสัมผัสแสงแดดเป็นประจำและสะสมเป็นระยะเวลานาน 

อาการของโรคแอกทินิก เคอราโทซิสไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่มีความเป็นไปได้ว่าผื่นแอกทินิก เคอราโทซิสจะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ดังนั้นการหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์ผิวหนังถูกทำลายจากรังสีอัลตราไวโอเลต

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดผื่นแอกทินิก เคอราโทซิส

  • รังสีอัลตราไวโอเลต (UV)
  • เป็นผู้ที่มีประวัติการโดนแดดสะสมหรือผิวไหม้แดด (Sunburn)
  • เป็นผู้ที่มีสีผิวอ่อน
  • เป็นผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในที่ที่มีแดดจัด
  • เป็นผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ

อาการของโรคแอกทินิก เคอราโทซิส

  • มีผื่นบนผิวหนังที่มีลักษณะหยาบ แห้ง เป็นสะเก็ด มักมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 1 นิ้ว (ประมาณ 2.5 เซนติเมตร)
  • มีผื่นบนผิวหนังที่มีลักษณะแบนราบหรือนูนขึ้นเล็กน้อยหรืออาจเป็นตุ่มเล็ก ๆ บนผิว
  • ผื่นแอกทินิก เคอราโทซิสในผู้ป่วยบางคนอาจมีลักษณะเป็นตุ่มแข็งคล้ายหูด
  • รอยบนผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีอื่น อาจเป็นสีชมพู สีแดงหรือสีน้ำตาล
  • บริเวณที่เป็นผื่นแอกทินิก เคอราโทซิสจะมีอาการคัน แสบร้อน มีเลือดออก หรือมีสะเก็ดร่วมด้วย

เกิดผื่นหรือตุ่มขึ้นบริเวณที่ผิวหนังโดนแสงบ่อย ๆ เช่น ศีรษะ คอ มือ และต้นแขน

วิธีรักษาโรคแอกทินิก เคอราโทซิส

วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับขนาด บริเวณที่เป็น และลักษณะการกระจายของผื่นตามร่างกาย

  • ใช้ยาทาเฉพาะที่ ซึ่งอยู่ในรูปของครีมหรือเจลที่สามารถใช้ทาบนผิวหนังบริเวณที่มีอาการ
  • รักษาด้วยการจี้เย็น (Cryotherapy) เป็นการแช่แข็งเพื่อทำลายเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ ทำให้ผื่นแอกทินิก เคอราโทซิสตกสะเก็ดและค่อย ๆ หลุดออกภายใน 1-2 สัปดาห์ หลังเข้ารับการรักษา
  • การผ่าตัดเพื่อเอาผื่นออก โดยแพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะที่ก่อนการผ่าตัด
  • การฉายแสงโฟโตไดนามิก (Photodynamic Therapy: PDT) เป็นการใช้สารละลายทาผื่นเพื่อทำให้ผื่นไวต่อแสง จากนั้นจึงฉายแสงเพื่อทำลายเซลล์ผิวหนังที่ผิดปกติ

ผื่นแอกทินิก เคอราโทซิส เป็นโรคผิวหนังที่สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรักษาหากผู้ป่วยอายุยังน้อย แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักต้องเข้ารับการรักษาเพราะผื่นอาจขยายใหญ่ขึ้นและกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้ 

วิธีป้องกันการเกิดแอกทินิก เคอราโทซิส

  • อยู่ในที่ร่ม หลีกเลี่ยงการโดนแดดจัดหรือการอยู่กลางแจ้ง
  • ใช้ครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันแสงแดด SPF 30 ขึ้นไป ที่สามารถป้องกันทั้งรังสี UVA และรังสี UVB
  • ไม่ควรใช้เตียงอาบแดด (Tanning Bed)
  • สังเกตความผิดปกติตามผิวหนัง และไปพบแพทย์หากเกิดความเปลี่ยนแปลงบนผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณที่โดนแสงแดด เช่น มีผื่นหรือมีตุ่มใหม่เกิดขึ้น

บริการตรวจมะเร็งผิวหนัง 

สามารถทำการจองเพื่อตรวจมะเร็งผิวหนังโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่คลินิกผิวหนังกะทู้

นัดหมายแพทย์

นัดหมาย

Login