แชร์
หูดอวัยวะเพศหรือหูดหงอนไก่ เกิดจากการติดเชื้อฮิวแมนแปปิโลมาไวรัส (Human papillomavirus) หรือ HPV ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ หูดหงอนไก่มีลักษณะเป็นติ่งเนื้องอกหรืออาจเกิดตุ่มขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ หัวหน่าว และก้น บริเวณที่มักเกิดหูดหงอนไก่ได้บ่อย เช่น บริเวณช่องคลอด ปากมดลูก องคชาต ถุงอัณฑะและทวารหนัก
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV
- หูดอวัยวะเพศติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์และจากการสัมผัสระหว่างผิวหนังกับผิวหนัง
- อาจติดต่อได้แม้กระทั่งในผู้ที่ไม่มีผื่นให้เห็น
- เป็นผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เพราะเมื่อติดเชื้อ HPV มีโอกาสที่อาการจะรุนแรงกว่าและจะใช้เวลาในการรักษานานกว่าผู้ที่ร่างกายแข็งแรง เพราะอาการของโรคตอบสนองต่อการรักษาน้อย และอาจทำให้กลับมาเป็นซ้ำได้บ่อยขึ้น
- ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ HPV มากกว่าผู้ที่ไม่สูบ
- ผู้ชายที่ขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ได้
อาการของหูดหงอนไก่หรือหูดบริเวณอวัยวะเพศ มีอะไรบ้าง
- เป็นก้อนหรือติ่งเนื้อขนาดเล็กบริเวณอวัยวะเพศ อาจมีสีเดียวกับผิว สีน้ำตาล หรือสีชมพู
- ติ่งเนื้อมีพื้นผิวที่เรียบหรือผิวขรุขระคล้ายดอกกะหล่ำหรือมีก้านยื่นออกมา
- หูดหงอนไก่บางครั้งอาจไม่มีอาการเลยหรืออาจมีอาการแดงและคันได้
- มีเลือดออกจากก้อนหรือติ่งเนื้อนั้นขณะมีเพศสัมพันธ์
วิธีรักษาหูดหงอนไก่
- การพ่นเย็น (Cryotherapy) อาจต้องพ่นมากกว่า 1 ครั้ง
- การจี้ไฟฟ้า (Electrocautery)
- การผ่าตัด หากหูดมีขนาดใหญ่
- การเลเซอร์
- การแต้มยา
วิธีป้องกันหูดหงอนไก่
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ HPV ได้
- การฉีดวัคซีน HPV สามารถป้องกัน HPV บางสายพันธุ์ได้
- การฉีดวัคซีน Gardasil® 9 สามารถป้องกัน HPV ได้ 9 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกและหูดหงอนไก่ (HPV Types 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52, and 58) ทั้งผู้หญิงและผู้ชายสามารถฉีดวัคซีนนี้ได้ โดยฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-45 ปี