มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา

แชร์

มะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดหนึ่ง ซึ่งพบได้น้อยแต่มีความรุนแรงมากกว่ามะเร็งผิวหนังชนิดอื่น เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ที่สร้างเม็ดสี โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังชนิด เมลาโนมานั้นไม่ชัดเจน แต่เชื่อว่าการได้รับรังสี Ultraviolet จากแสงแดด จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา ซึ่งหากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกก็จะรักษาให้หายได้ แต่หากตรวจเจอช้า เซลล์มะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จนทำให้ยากต่อการรักษา

ลักษณะและอาการของมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา

  • เป็นตุ่มหรือก้อนเนื้อ อาจเป็นสีน้ำตาล สีดำ สีชมพู สีแทนหรือสีขาวก็ได้
  • เป็นตุ่มที่แตกเป็นแผล มีเลือดออกง่าย
  • ไฝต่าง ๆ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือมีรูปร่างเปลี่ยนไป

กฎ ABCDE ที่ใช้ประเมินความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา

กฎ ABCDE เป็นการตรวจสอบไฝหรือตุ่มผิดปกติที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง เพื่อหาสัญญาณของโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา

  • A ย่อมาจาก Asymmetry คือความไม่สมดุล ถ้าไฝหรือรอยโรคมีลักษณะสองฝั่งไม่เท่ากัน ไม่สมมาตรหรือไม่สม่ำเสมอ อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งผิวหนัง
  • B ย่อมาจาก Border ถ้าขอบของรอยโรคไม่เรียบเนียน มีรอยหยักหรือขรุขระ  ควรตรวจรอยเหล่านี้เพราะอาจเป็นมะเร็งผิวหนังได้
  • C ย่อมาจาก Color ถ้าสีของรอยโรคเปลี่ยนแปลงไป สีไม่สม่ำเสมอหรือมีหลายสี อาจมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้
  • D ย่อมาจาก Diameter คือเส้นผ่านศูนย์กลาง ไฝหรือรอยโรคที่จะเจริญเติบโตเป็นมะเร็งผิวหนังมักมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ใหญ่กว่า 6 มิลลิเมตร แต่อาจมีขนาดเล็กกว่าก็ได้
  • E ย่อมาจาก Evolving คือการเปลี่ยนแปลงทุกด้าน โดยปกติแล้วไฝแม้จะมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่จะมีรูปร่างเหมือนเดิม แต่ถ้าเป็นไฝที่เสี่ยงจะกลายเป็นมะเร็งจะเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านอื่นไปตามกาลเวลา อาจเปลี่ยนได้ทั้งขนาด รูปร่าง สี หรืออาจนูนสูงขึ้นจากผิวหนัง

ชนิดของมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาที่พบได้บ่อย

  • ชนิดตื้น (Superficial Spreading Melanoma) เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะในคนที่มีผิวขาวมากและตกกระ มะเร็งชนิดนี้จะแพร่กระจายที่ผิวหนังชั้นนอกมากกว่า จึงมีความอัตรายน้อย 
  • ชนิดตุ่มนูน (Nodular Melanoma) มีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีแดงหรือดำ มะเร็งชนิดนี้จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและสามารถแพร่กระจายลงไปในผิวหนังชั้นที่อยู่ลึกได้ จึงต้องรีบรักษาเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย
  • ชนิดเลนทิโก มาลิกนา (Lentigo Maligna) มักเกิดบริเวณที่โดนแสงแดดบ่อย ๆ อย่างใบหน้า พบได้ในผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติทำกิจกรรมที่ต้องอยู่กลางแจ้งอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ในระยะเริ่มต้นอาจมีลักษณะคล้ายกระบนใบหน้า แล้วขยายใหญ่ขึ้นและมีสีผิวผิดปกติ 
  • ชนิดเกิดที่มือและเท้า (Acral Lentiginous Melanoma) เป็นชนิดที่พบได้น้อย มีลักษณะเป็นเนื้องอก ปื้นสีดำหรือสีน้ำตาลคล้ายไฝ มักพบในผู้ที่มีผิวคล้ำ และเกิดขึ้นบริเวณฝ่ามือหรือฝ่าเท้าเป็นส่วนใหญ่

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนัง

  • ผู้ที่มีผิวสีอ่อน
  • ผู้ที่มีผิวไวต่อแสงแดด
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง
  • มีไฝหรือขี้แมลงวันจำนวนมากผิดปกติ
  • อยู่ในพื้นที่ที่มีแดดจัดเป็นระยะเวลานาน
  • เคยได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ 
  • กินยากดภูมิคุ้มกัน

วิธีป้องกันมะเร็งผิวหนัง

  • หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดด โดยเฉพาะช่วงที่แดดจัด
  • ไม่ใช้เตียงอาบแดดหรือเตียงอบผิวสีแทน
  • ทาครีมกันแดดเป็นประจำ

การรักษาโรคมะเร็งผิวหนังชนิด Melanom

แพทย์จะเลือกวิธีรักษาโดยพิจารณาจากระยะของมะเร็ง วิธีรักษาที่มักนำมาใช้ ได้แก่

  • การผ่าตัด จะผ่าตัดผิวหนังบริเวณที่เป็นมะเร็งออก ถือเป็นวิธีหลักที่ใช้รักษามะเร็งผิวหนังเมลาโนมา
  • การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการใช้ยาที่ออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ต่อสู้กับเซลล์มะเร็งเพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
  • การใช้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง เป็นการใช้ยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งนั้น ๆ โดยตัวยาจะไปยับยั้งการสร้างโปรตีนและโมเลกุลของเซลล์มะเร็ง

การใช้เคมีบำบัด เป็นการใช้ยาเพื่อหยุดการเจริญเติบโตหรือกำจัดเซลล์มะเร็ง

บริการตรวจมะเร็งผิวหนัง 

สามารถทำการจองเพื่อตรวจมะเร็งผิวหนังโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ที่คลินิกผิวหนังกะทู้

นัดหมายแพทย์

นัดหมาย

Login