แชร์
โรคผิวหนังอักเสบหรือโรคภูมิแพ้ผิวหนัง จัดอยู่ในกลุ่มของโรคที่เกิดจากภูมิแพ้ เป็นอาการที่พบได้บ่อย โรคผิวหนังอักเสบเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ มักทำให้เกิดผื่นแดง บวม คัน ตามผิวหนัง บางรายอาจเป็นแผลพุพอง มีน้ำหนองหรือตกสะเก็ดร่วมด้วย สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย
ประเภทของโรคผิวหนังอักเสบ
- ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด มักเป็นในเด็ก แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปเองเมื่อเป็นวัยรุ่นหรือเข้าสู่วัยผู้ใหญ่
- ผื่นแพ้สัมผัส (Contact Dermatitis) เกิดจาการที่ผิวหนังสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ชนิดใดชนิดหนึ่ง มี 2 ประเภท คือ
- ผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการแพ้สัมผัส เป็นปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อสารสัมผัสบางชนิดที่ทำให้เกิดการแพ้ เช่น สัมผัสผลิตภัณฑ์จากยางหรือโลหะ
- ผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการระคายเคือง การเกิดผื่นประเภทนี้ไม่ได้เกิดผ่านการกระตุ้นต่อระบบภูมิคุ้มกัน แต่จะเกิดภูมิแพ้เมื่อผิวหนังสัมผัสกับสารก่อความระคายเคืองชนิดใดชนิดหนึ่ง
- ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ (Dyshidrotic Eczema) ผิวหนังอักเสบชนิดนี้จะทำให้เกิดตุ่มน้ำใส ๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า
- ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณมือ (Hand Eczema) อาจเป็นเฉพาะที่ฝ่ามือหรืออาจเป็นที่ส่วนอื่น ๆ ของมือก็ได้ จะเกิดผื่นแพ้เมื่อมือสัมผัสกับสารที่ระคายเคือง เช่น ฝุ่น สบู่ ผงซักฟอก สเปรย์ฆ่าเชื้อโรค หรือแม้กระทั่งการล้างมือบ่อย ๆ ก็สามารถทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบที่มือได้
- ผื่นผิวหนังอักเสบรูปร่างกลมหรือวงรี (Nummular Eczema) มีลักษณะผื่นแพ้ที่เป็นวงกลมคล้ายรูปเหรียญ มักพบบริเวณส่วนล่างของร่างกาย โดยเฉพาะที่ขา
- ผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า (Stasis Dermatitis) พบได้บ่อยบริเวณข้อเท้า มักพบร่วมกับภาวะเส้นเลือดขอด ซึ่งเกิดจากการที่หลอดเลือดดำที่ขาส่วนล่างไหลเวียนไม่ดี ทำให้เกิดอาการบวม แดง คัน อาจมีอาการเจ็บหรือมีแผลร่วมด้วยได้
อาการของโรคผิวหนังอักเสบ
- ผิวแห้ง เป็นสะเก็ด มีขุย
- เป็นผื่นแดง
- มีอาการคัน
การรักษาโรคผิวหนังอักเสบ
การรักษาโรคผิวหนังอักเสบจะช่วยบรรเทาอาการที่เป็น แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ในผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ผื่นผิวหนังอักเสบมักจะมีอาการดีขึ้นและหายไปเองเมื่อโตขึ้น
วิธีรักษาโรคผิวหนังอักเสบมีหลายวิธี ได้แก่
- ทาครีมมอยซ์เจอร์ไรเซอร์หรือน้ำมันทาผิวหลังอาบน้ำเพื่อบรรเทาอาการคัน
- ทายาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบของผิว หากมีอาการรุนแรงแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานร่วมด้วย
- กินยาแก้แพ้ที่เป็นกลุ่มยาต้านสารฮีสตามีน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้รักษาโรคภูมิแพ้ แต่สามารถบรรเทาอาการคันจากโรคผิวหนังอักเสบในผู้ป่วยบางรายได้
- ใช้แสงรักษา มักใช้กับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น
- กินยากดภูมิคุ้มกัน มักใช้ในรายที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่น