แชร์
ผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้านที่เกิดจากพันธุกรรมหรือ “โรคผมบางที่มีรูปแบบเฉพาะ” เป็นภาวะผมร่วงที่พบได้บ่อยในเพศชาย ลักษณะผมบางจะถูกเรียกตามบริเวณที่เกิด ได้แก่
- ผมบางบริเวณไรผมตรงหน้าผากขึ้นไป
- ผมบางบริเวณกลางศีรษะ
- เกิดผมร่วงด้านหน้าร่นขึ้นเป็นรูปตัว M ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของอาการผมบาง ศีรษะล้านในเพศชาย
ส่วนลักษณะเฉพาะของอาการผมร่วง ผมบางในเพศหญิงจะแตกต่างจากเพศชาย ผู้หญิงมักจะมีผมบางได้ทั่วทั้งศีรษะ แต่เส้นผมจะไม่หลุดร่วงทั้งหมด ภาวะหัวล้านจึงไม่ค่อยเกิดกับเพศหญิง
วิธีรักษาผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้านที่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม
- การใช้ยาไมนอกซิดิล (Minoxidil) ยาตัวนี้จะทำให้ระยะงอกของวงจรเส้นผมยาวนานขึ้น ทำให้ได้ผมใหม่ที่หนาและแข็งแรงกว่าเดิม สามารถใช้ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ผลที่ได้จากการใช้ยาไมนอกซิดิลต้องใช้ติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะรู้ว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ หากใช้แล้วเห็นผล จะสังเกตได้ว่าผมร่วงน้อยลงภายในระยะเวลา 2 เดือนและเห็นผมงอกเพิ่มขึ้นภายใน 8 เดือนหลังเริ่มใช้ยา ผลที่ได้จะเริ่มคงที่หลังจากใช้ยาไปประมาณ 12-18 เดือน โดยจำเป็นต้องใช้ยาไมนอกซิดิลไปเรื่อย ๆ เพราะถ้าหยุดใช้ยาผมจะกลับมาร่วงอีกครั้ง
- การใช้ยาฟิแนสเทอไรด์ (Finasteride) เป็นยาที่ลดการผลิตฮอร์โมนตัวหนึ่งซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคศีรษะล้านที่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรม ทำให้ผมหยุดร่วงและมีผมงอกขึ้นใหม่
- การผ่าตัดปลูกผม ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาผมร่วง เป็นการย้ายเซลล์รากผมที่สมบูรณ์ไปปลูกบริเวณที่ผมบาง
- การรักษาด้วยเทคโนโลยี Low Level Light Therapy/Phototherapy ซึ่งเป็นการรักษาด้วยเลเซอร์คลื่นแสงความถี่ต่ำ ที่สามารถใช้รักษาอาการศีรษะล้านจากพันธุกรรมได้ โดยจะเลเซอร์ประมาณสามครั้งต่อสัปดาห์