แชร์
โรคผมร่วงเป็นหย่อมเกิดจากการอักเสบภายใต้หนังศีรษะ เนื่องจากภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ทำงานผิดปกติไปทำลายต่อมรากผม ทำให้เกิดผมร่วงไม่ถาวร โรคผมร่วงเป็นหย่อมอาจทำให้ผมร่วงแค่บริเวณเล็ก ๆ หรืออาจเกิดผมร่วงทั้งหมด สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งบริเวณศีรษะและอาจเกิดกับเส้นขนบริเวณอื่นของร่างกายได้ เช่น คิ้ว ขนตา หนวด
โรคผมร่วงเป็นหย่อมสามารถแบ่งประเภทตามตำแหน่งและความรุนแรงได้ดังนี้
- Alopecia Areata (AA) : มีผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ที่ศีรษะ หรืออาจมีหย่อมขนร่วงตรงส่วนอื่น ๆ เช่น ขนบริเวณใบหน้าและขนตามร่างกาย
- Alopecia Totalis (AT) : ผมที่ศีรษะร่วงทั้งหมด
- Alopecia Universalis (AU) : ผมที่ศีรษะและขนที่ตัว เช่น ขนรักแร้ ขนหัวหน่าว ร่วงทั้งหมด แต่กรณีนี้เกิดขึ้นได้ยากมาก
การรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม
- ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่ายาสเตียรอยด์ เป็นยาต้านการอักเสบที่ใช้รักษาโรคผมร่วง มีด้วยกัน 3 รูปแบบคือ ยาชนิดฉีด ยาทา และยาชนิดกิน
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์รูปแบบฉีด (Injected Corticosteroids) ส่วนใหญ่จะใช้รักษาผู้ใหญ่ที่มีผมร่วงเป็นหย่อม โดยจะฉีดยาบริเวณรอยโรคเพื่อยับยั้งการร่วงของเส้นขน แพทย์อาจทายาชาเฉพาะที่ก่อนการฉีดเพื่อลดความเจ็บปวด วิธีนี้จะใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ จึงจะเริ่มสังเกตเห็นผมที่งอกขึ้นใหม่ สามารถฉีดซ้ำได้ทุก ๆ 4-6 สัปดาห์ จนกว่าผมที่งอกใหม่จะสมบูรณ์
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดที่ใช้ภายนอก ใช้รักษาโดยการทายาเป็นประจำทุกวัน
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ประเภทกิน แพทย์จะพิจารณาใช้ยานี้ในรายที่มีผมร่วงจำนวนมากในเวลารวดเร็ว แม้ว่าการกินยาจะทำให้ผมร่วงน้อยลงและช่วยให้ผมงอกใหม่ แต่ไม่ควรกินติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะตัวยามีผลข้างเคียงที่รุนแรง การรับประทานยาคอร์ติโคสเตียรอยด์จึงมักจะถูกจำกัดใช้เป็นเวลาไม่กี่สัปดาห์ และผู้ป่วยอาจผมร่วงซ้ำหลังจากหยุดยา
- ใช้ยา Minoxidil ซึ่งเป็นยาปลูกผมที่ใช้รักษาอาการผมร่วงที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ตัวยาจะช่วยบำรุงรากผมและกระตุ้นให้เกิดผมใหม่
การรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อมมีหลายทางเลือก เมื่อเข้ารับการรักษาจะทำให้มีแนวโน้มที่ผมจะร่วงน้อยลงและยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดผมใหม่