แชร์
การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังจะทำให้เกิดตุ่มพุพอง เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็กทารกและเด็กก่อนวัยเรียน
อาการของการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง
- เกิดแผลพุพอง
- เป็นผื่นแดง
- เป็นตุ่มน้ำใส
- มีอาการเจ็บหรือปวดได้เล็กน้อย
- ผื่นมักเป็นบริเวณหน้า รอบจมูกและปาก อาจพบที่มือและเท้าร่วมด้วย
เมื่อผ่านไป 1 สัปดาห์ ผื่นจะแตกและมีน้ำเหลืองออกมา เมื่อน้ำเหลืองแห้งจะเป็นกลายเป็นสะเก็ดสีเหลือง (Honey Color Crust)
การติดเชื้อแบคทีเรียตัวเดียวกัน ยังสามารถแบ่งอาการย่อย ๆ ได้ 3 แบบ
- แบบมีตุ่มน้ำ (Bullous Impetigo)
- แบบไม่มีตุ่มน้ำ (Non-Bullous Impetigo)
- แบบเป็นตุ่มหนอง (Ecthyma)
ปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง
- เด็กเล็กอายุ 2-5 ปี มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อมากกว่าเด็กวัยอื่น
- มีประวัติสัมผัสผู้ป่วย
- อยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนชื้น
- ผิวหนังมีแผลที่เกิดจากการแกะ เกา หรือเกิดจากแมลงสัตว์กัดต่อย
- มีภาวะโรคผิวหนังบางชนิด เช่น ภูมิแพ้ผิวหนัง
ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้หลังการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง
- เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) เป็นการติดเชื้อที่ผิวหนังในระดับลึก และอาจมีการติดเชื้อเข้ากระแสเลือดได้
- ก่อให้เกิดภาวะไตผิดปกติในผู้ป่วยเด็กบางราย การติดเชื้อชนิดนี้ จะเกิดการอักเสบของไตตามมาได้
- ทิ้งรอยแผลเป็นและสีผิวไม่สม่ำเสมอ
การรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง
สามารถรักษาได้โดยการกินยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเพื่อลดการกระจายของเชื้อ ร่วมกับการทายา และควรให้เด็กหยุดเรียนในช่วงที่มีผื่นเพื่อลดการติดต่อสู่เด็กคนอื่น โดยส่วนใหญ่การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังจะหายภายใน 7-10 วัน หลังเข้ารับการรักษา