แชร์
การตัดชิ้นเนื้อเพื่อการส่งตรวจเป็นการตัดหรือฝานชิ้นเนื้อเพียงบางส่วน หรือตัดชิ้นเนื้อออกทั้งหมดเพื่อนำไปส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
ข้อบ่งชี้ในการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการส่งตรวจ
- รอยโรคที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง
- รอยโรคที่มีการวินิจฉัยไม่ชัดเจน
- รอยโรคที่ต้องได้รับการยืนยันทางพยาธิวิทยาเพื่อการวางแผนการรักษา
วิธีการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการส่งตรวจ
- การฝานรอยโรค (Shave Biopsy) จะตัดรอยโรคที่สงสัยว่าเป็นมะเร็งเป็นแผ่นบาง ๆ หรือเจาะลึกลงไปใต้ชั้นผิวหนัง
- การตัดชิ้นเนื้อด้วยอุปกรณ์เฉพาะ (Punch Biopsy)
- การตัดชิ้นเนื้อทั้งหมดไปตรวจเพื่อการวินิจฉัย (Excisional Biopsy)
การดูแลแผลหลังการผ่าตัดชิ้นเนื้อเพื่อการส่งตรวจ
หลังจากผ่าตัด แพทย์จะติดผ้าก๊อซบริเวณแผลผ่าตัด จำเป็นต้องปิดแผลต่อไปอย่างน้อย 24 ชั่วโมงและห้ามไม่ให้แผลเปียกน้ำ บริเวณแผลอาจบวมแดงเล็กน้อย ซึ่งเป็นอาการทั่วไปที่พบได้หลังการผ่าตัด หากมีเลือดซึมหลังการผ่าตัดให้กดบริเวณแผลประมาณ 10-20 นาทีเลือดจะหยุดไหล
การดูแลแผลผ่าตัด
- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ก่อนเปลี่ยนผ้าปิดแผลใหม่
- เมื่อนำผ้าปิดแผลอันเก่าออกแล้ว ให้ทำความสะอาดบริเวณแผลผ่าตัดเบา ๆ ด้วยน้ำเกลือ ไม่ควรขัดหรือถูแผล
- สามารถใช้คอตตอนบัดเพื่อเช็ดคราบเลือดแห้งหรือของเหลวอื่น ๆ บริเวณแผลออก
- ใช้ผ้าก๊อซสะอาดซับแผลให้แห้ง
- ทาแผลด้วยยาปฏิชีวนะชนิดทาเฉพาะที่ที่ใช้สำหรับการป้องกันการติดเชื้อของแผลผ่าตัด
- ปิดแผลด้วยผ้าพันแผลชนิดยืดหรือผ้าก๊อซชนิดไม่ติดแผล
- งดแช่น้ำและว่ายน้ำอย่างน้อย 1 สัปดาห์หลังการผ่าตัด
- เมื่อแผลหายแล้วให้ทาครีมกันแดดบริเวณนี้เป็นประจำเพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็นและการเกิดสีผิวไม่สม่ำเสมอ
สำหรับแผลผ่าตัดที่มีการเย็บแผล หากเป็นแผลเย็บบริเวณใบหน้า หนังศีรษะ หรือลำคอ ควรตัดไหมภายใน 7 วัน ส่วนแผลเย็บบริเวณลำตัวควรตัดไหมภายใน 14 วัน
ควรติดต่อแพทย์ทันทีในกรณีที่
- มีเลือดซึมที่แผล เมื่อกดบริเวณแผล 15 นาทีแล้วแต่เลือดยังไม่หยุดไหล
- แผลบวม แดง รู้สึกปวดบริเวณแผลผ่าตัดมากขึ้นเรื่อย ๆ มีหนองหรือมีน้ำเหลืองไหลผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นอาการของแผลอักเสบและเกิดการติดเชื้อ